บทที่ 1
แนวคิดและทฤษฎี
1.ทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์
ความคิดประชาธิปไตย (Democracy) เกิดขึ้นมานานนับพัน ๆ ปี ประชาธิปไตยสามารถที่จะศึกษาในฐานนะที่เป็นอุดมการณ์ ในฐานะรูปการปกครอง และในฐานะวิถีทางดำเนินชีวิต สำหรับประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ในโลกปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมก็ตาม ต่างก็ยึดถือตามคติพจน์ของอดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา คือ ท่าน อับราฮัม ลินคอล์น (Abrahan Lincoln ค.ศ. 1809-1865)ที่กล่าวไว้ว่า
“ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” หมายถึงประชาชนพลเมือง (Citizen) เป็นทั้งเจ้าของอำนาจปกครอง เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นเอง และเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเอง นอกจากนี้แล้ว ประชาธิปไตยตามแนวความคิดของ จอห์น ล็อก (John Locke ค.ศ. 1632-1704) ปราชญ์ชาวอังกฤษ ยังหมายถึง มนุษย์เกิดมาแล้วล้วนเท่าเทียมกันทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ เพื่อให้ระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ จำเป็นที่จะต้องอาศัยปัจจัยประกอบหลาย ๆ อย่างด้วยกัน เช่น การศึกษาดี เศรษฐกิจมั่นคง นอกจากนี้ยังมีหลักของระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ยอมรับอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ 5 ประการ คือ
1.สภาวะการเป็นพลเมือง ที่ทุกคนควรพึงมี และใช้สิทธิในการเป็นสมาชิกสังคม
2.พลเมืองทุกคนย่อมมีสิทธิลงคะแนนเสียงเมื่ออายุพอสมควรที่จะรับผิดชอบ
3.ให้มีระบบเลือกตั้งโดยเสรี คือ การลงคะแนนเสียงที่กระทำโดยเสรี
4.พรรคการเมือง เป็นองค์การที่รวมความคิดเห็นที่เหมือนกันของประชาชนที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครอง การบริหารงานของรัฐ โดยการเสนอนโยบาย และส่งตัวแทนเข้าไปรับใช้ประชาชนในรัฐสภา
5.อิทธิพลของกลุ่มคน เพื่อที่จะให้ประชาชนพลเมืองสามารถติดต่อกับรัฐบาลของตนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการจูงใจรัฐบาลให้กำหนดนโยบาย และบริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของตน เครื่องมือที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การจัดตั้งเป็นกลุ่มเอกชน รวมเอาผู้ที่มีความคิดเห็น หรือมีผลประโยชน์อย่างเดียวกัน หรือหลายอย่างในทางเดียวกัน รวมกันเป็น หมู่คณะ เช่น วงการธุรกิจ กรรมกร เกษตรกร ข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ หรือรวมโดยเชื้อชาติศาสนา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอำนาจ และอิทธิพลมากต่อการเปลี่ยนแปลง แก้ไขนโยบายของรัฐบาล
ในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ทฤษฎีพหุนิยม เป็นทฤษฎีที่กำลังได้รับความสนใจมาก ทฤษฎีหนึ่งโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางมากกว่าแห่งใด โดยความเชื่อที่ว่า ถนนที่จะไปสู่ประชาธิปไตยจะต้องอาศัยทฤษฎีพหุนิยม นักรัฐศาสตร์อเมริกันชื่อ W.J.M. Mackenize ได้เริ่มการศึกษาเป็นครั้งแรกในเรื่อง กลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) เมื่อ ค.ศ. 1920
พหุนิยม (Pluralism) หมายถึง สภาพหรือลักษณะของสังคมใด ๆ ที่ยอมรับการปรากฎอยู่หรือการมีอยู่ และเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจทางสังคม และทางศาสนา ตามที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นลักษณะของ ลัทธิเสรีนิยม (Liberalism)
เอกชนหรือปัจเจกชนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมและร่วมในผลประโยชน์โดยสมัครใจ ในอันที่จะสรรสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน หรือการบรรลุเป้าหมายบางประการที่ตั้งไว้
– พหุนิยมทางการเมือง (Political pluralism) คือ แนวความคิดที่เสนอให้มีการจัดระเบียบของรัฐเสียใหม่ โดยให้มีสถาบัน หรือองค์การอิสระต่าง ๆ ทำหน้าที่ควบคุม และจำกัดอำนาจของรัฐ เช่น พรรคการเมือง สหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพ
– ทฤษฏีพหุนิยม หลักการของทฤษฏีนี้คือ ประชาธิปไตยจะมีขึ้นและมั่งคงอยู่ได้ด้วยการที่มีกลุ่ม สมาคม สันนิบาต องค์การ สหพันธ์ต่าง ๆ มากมายหลากหลายภายในรัฐ เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมา และมีวิธีการดำเนินการที่เป็นไปโดยเสรีและด้วยใจสมัคร รวมถึงกลุ่มที่เรียกว่า กลุ่มผลักดัน(Pressure groups) กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) และกลุ่มอุดมการณ์ (Ideological Groups)
คำว่ากลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) กับคำว่า กลุ่มอิทธิพล (Pressure Groups) เป็นคำที่มักจะใช้ปะปนกัน เนื่องจากมีความหมายใกล้เคียงกัน การให้ความหมายที่แตกต่างกันเป็นผลมาจากนักวิชาการแต่ละท่านที่มอง คือตามทัศนะของการมองหรือการศึกษา (Approach)
กลุ่มผลประโยชน์นั้นพิจารณาตามหลักของความเป็นจริงจากพฤติกรรมแล้วเป็นการรวมตัวของกลุ่มชนที่มีผลประโยชน์ได้ยึดถือเอาแนวอาชีพเดียวกันเป็นหลัก เมื่อการรวมตัวกันดำเนินไปได้ด้วยดี มีการจัดองค์การที่ดี มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะสามารถสร้างพลังและเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล (Influence) และอำนาจ (Power) เหนือรัฐบาล เหนือผู้บริหารประเทศได้ พลังอำนาจที่ว่านี้รวมไปถึงจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมในกลุ่มด้วย
กลุ่มผลประโยชน์
กลุ่มผลประโยชน์หรือ Interest Groups หมายถึงกลุ่มตัวแทนสาขา อาชีพสาขาในสังคม ซึ่งมีจำนวนมาก และตามความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา คำต่อไปนี้มีความหมายที่ใกล้เคียงกันและมักใช้ปะปนกันอยู่เสมอคือ
– Interest Groups หมายถึง กลุ่มผลประโยชน์
– Pressure Groups หมายถึง กลุ่มผลักดัน หรือ กลุ่มอิทธิพล
– Organized Groups หมายถึง การรวมกลุ่มของผู้มีผลประโยชน์ หรือผลประโยชน์ที่รวมกันในลักษณะขององค์การ
– Group interest ผลประโยชน์ของกลุ่มไม่เหมือนกันกับ Organized Groups เพราะเป็นการรวมกันเฉยๆ ไม่มีการจัดองค์การ
– Ideological Groups หมายถึง กลุ่มอุดมการณ์ ไม่มีการแบ่งเป็นชั้นอาชีพ เพศและอาชีพ
– Lobby หมายถึง กลุ่มแลกเปลี่ยนผลประโยชน์นอกสภาเปรียบเทียบเป็นสภาที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา
– Political Groups หมายถึง กลุ่มการเมืองหรือ สโมสรการเมือง Political Clubs
– Powers Groups หมายถึง กลุ่มพลังต่างๆ ขบวนการต่างๆ
จุดหมายสำคัญของกลุ่มต่างๆ นี้คือ การป้องกันผลประโยชน์ของกลุ่ม วิ่งแบ่งแยกตามสาขาของสังคมผลประโยชน์นั้นอาจหมายถึง ผลประโยชน์เฉพาะของกลุ่มหรือผลประโยชน์นอกกลุ่ม คือผลประโยชน์ทั่วไปที่เป็นสาธารณะ รวมถึงจุดหมายสุดท้ายคือ การมีอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ
กลุ่มผลักดัน
คำว่ากลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) เป็นองค์การผลประโยชน์ของกลุ่มชน ซึ่งสมาชิกได้มีส่วนร่วมในทัศนะ มีเป้าหมาย และกิจการตามโครงการของกลุ่มในอันที่จะมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือรัฐบาล และมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาล กลุ่มผลักดันหรือกลุ่มอิทธิพลนี้มิได้มีเป้าหมายเหมือนกันกับพรรคการเมือง ที่ว่า พรรคการเมืองต้องการชัยชนะ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ แต่กลุ่มผลักดันนั้นมีเป้าหมายใหญ่คือ
– ผลประโยชน์ในการเป็นเจ้าของหรือมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่จะมีผลโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อสมาชิกของกลุ่มตน
กลุ่มผลักดัน คือ องค์การที่ก่อตั้งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ไปเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ บังคับให้มีการเปลี่ยนแปลง การตัดสินใจในนโยบายของรัฐ ให้เป็นประโยชน์แก่กลุ่มของตน ตรงกันข้ามกันกับพรรคการเมืองซึ่งมีเป้าหมายที่จะเข้าไปบริหารนโยบาย คือ การใช้อำนาจรัฐ กลุ่มผลักดันนี้ต้องการแต่เพียงเพื่อการมีอิทธิพลเหนือองค์การที่มีอำนาจตัดสินใจ การใช้อิทธิพล เพื่อบีบบังคับนั้น อาจกระทำได้โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การขอมติ ขอความร่วมมือจากพลเมือง การใช้อิทธิพลบีบบังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรง กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆในสังคมมีโอกาสที่จะกลับกลายเป็นกลุ่มผลักดันหรือกลุ่มอิทธิพลได้ทั้งสิ้น
กลุ่มอุดมการณ์
กลุ่มอุดมการณ์ (Ideological Groups) ก็เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาหรือมีวิธัการดำเนินการที่เป็นโดยเสรี และด้วยใจสมัคร(Voluntary associations) และจะต้องเป็นองค์การหรือสมาคมที่ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้ด้วยการอุปถัมภ์ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยทางอ้อมจากรัฐ หรือจากรัฐบาล
พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์
พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ เป็นลักษณะของการรวมตัวของประชาชน พลเมืองซึ่งมีป้าหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนอาจจะเป็นด้านการเมือง หรือด้านผลประโยชน์ทางอาชีพ
พรรคการเมืองเกิดจากกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ และนโยบายสอดคล้องกันในเรื่องการเข้าสู่อำนาจรัฐ ซึ่งในระยะเริ่มแรกจะเป็นกลุ่มการเมือง เมื่อมีการรวมตัวกันมั่นคงก็จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง แต่ถ้าพรรคการเมืองนั้นประสบความล้มเหลวในการต่อสู้ทางการเมือง การรวมตัวนั้นอาจยังคงมีอยู่ระหว่างบรรดาสมาชิก (รูปที่ 1) แต่เป็นกลุ่มผลประโยชน์
รูปที่ 1
1
2 3
Political movement Political Party Interest Groups
ขบวนการทางการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์
นอกจากนี้พัฒนาการของกลุ่มผลประโยชน์ อาจนำไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองในที่สุดได้ เช่น เมื่อมีการรวมตัวกันขึ้นเป็นกลุ่มผลประโยชน์ ผลประโยชน์ของกลุ่มอาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการบีบบังคับในทางการเมือง คือ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบางอย่าง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กลุ่มผลประโยชน์ก็จะกลายสภาพเป็นขบวนการทางการเมือง และในที่สุดขบวนการทางการเมืองที่กล่าวนี้ ก็อาจจะกลายเป็นพรรคการเมือง โดยที่มีนโยบายและเป้าหมายเดิมอันเป็นนโยบายหรือเป้าหมายของกลุ่มผลประโยชน์นั่นเอง ดังในรูปที่ 2
รูปที่ 2
1 พรรคการเมือง/Political Party
2 ขบวนการทางการเมือง/Political Movement
3 กลุ่มผลประโยชน์/Interest Groups
2.ทฤษฎีระบบ
2.1 ตัวแบบทฤษฎีระบบ
ทฤษฎีระบบสามารถแยกออกได้เป็น 2 แนวใหญ่ด้วยกัน คือ แนวแรกมองในฐานะสิ่งมีชีวิตคล้ายกับทางชีววิทยา (System as organic entity) ตัวแทนที่เด่นของแนวคิดนี้ในวิชารัฐศาสตร์ ได้แก่ เดวิด อีสตัน (David Easton) แนวที่สอง มองระบบในแง่ของโครงสร้าง – หน้าที่ ตัวแทนของแนวความคิดนี้ ได้แก่ เกเบรียล อัลมอนต์ และคณะ
2.2 ทฤษฎีระบบในฐานะสิ่งมีชีวิต
เจ้าตำหรับที่นำแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีระบบมีใช้ในวิชาสังคมศาสตร์ คือ นักสังคมวิทยาที่
ชื่อ ทัลคอท พาร์สัน (Talcott Parsons) ต่อมานักสังคมศาสตร์รวมทั้งนักรัฐศาสตร์รับเอาแนวความคิดนี้มาใช้ กล่าวโดยสรุป หัวใจของนักทฤษฎีระบบอยู่ที่การมองสังคมว่าเป็นระบบ (Social system) ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระหว่างระบบใหญ่กับระบบย่อยคล้ายสิ่งมีชีวิต เช่น ร่างกายมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน
ในฐานะที่เป็นระบบสังคมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องการบางอย่าง (Need) ได้รับการตอบสนอง เพื่อความอยู่รอดของระบบ คือ อยู่ในภาวะดุลยภาพ ดังนั้น ระบบของสังคมจึงมีฐานะคล้ายกับสิ่งมีชีวิต คือ สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ ถ้าหากความต้องการต่าง ๆ ได้รับการตอบสนอง แต่ถ้าหากความต้องการของสังคมไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควรก็จะทำให้สังคมเกิดภาวะไร้ดุลยภาพ คือ เสียศูนย์ระบบก็เสื่อมสลายไปในที่สุด
เดวิด อีสตัน เป็นตัวแกนของกลุ่มที่มองระบบในฐานะสิ่งมีชีวิต และเป็นคนแรกที่นำเอาทฤษฎีระบบมาใช้ในการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ ความหวังของ อีสตัน อยู่ที่การสร้างทฤษฎีทางการเมืองที่เป็นมาตราฐานให้เป็นที่ยอมรับของนักรัฐศาสตร์ทั่วไป
ทฤษฎีของเดวิด อีสตัน เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในหมู่นักรัฐศาสตร์ ดังภาพ
สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อม
ข้อเรียกร้อง นโยบาย
สิ่งที่เข้าไปในระบบ ระบบการเมือง ผลลัพธ์ที่ออกมา
การสนับสนุน การตัดสินใจ
ข้อมูลย้อนกลับ
สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อม (Environment) หมายถึง สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อระบบการเมือง
สิ่งที่ใส่เข้าไปในระบบการเมือง (Inputs) แยกเป็นข้อเรียกร้องที่มีต่อระบบ (Demand) และการยอมรับหรือการสนับสนุนที่สมาชิกมีต่อระบบ (Support)
ระบบการเมือง (Political system) หมายถึง ระบบความสัมพันธ์และพฤติกรรมทางการเมืองรวมตลอดถึงสถาบันและโครงสร้างทางการเมืองที่ทำหน้าที่ในการจัดสรรสิ่งที่มีค่าในสังคม
ผลลัพธ์ที่ออกมาจากการทำงานของระบบการเมือง (Output) เช่น นโยบาย การตัดสินใจ การดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐบาลข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) หมายถึง ผลสะท้อนอันเนื่องมาจากการทำงานของระบบการเมืองอันจะนำไปสู่การสนับสนุน หรือการตั้งข้อเรียกร้องใหม่ต่อระบบการเมือง ถ้าระบบการเมืองสามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่าง ๆ ได้ ก็จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก ระบบก็อยู่รอด หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามระบบก็เสื่อมสลายไป
บทที่ 2
ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีของนายกฯอภิสิทธิ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ที่ กระทรวงต่างประเทศ และได้เริ่มที่จะบริหารประเทศ กลุ่มการเมืองจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้อง กดดันรัฐบาลอภิสิทธิ์ ต่างๆนานา โดยเริ่มตั้งแต่ การเรียกร้องให้ลาออก แล้วให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่สง่างาม การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ว่าด้วย การยุบพรรคการเมือง และมาตรา 309 ว่าด้วย การกระทำการใดๆตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ จนถึง การเคลื่อนไหว ชุมนุม การโฟนอินของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เข้ามาในที่ชุมนุม จนถึงการเคลื่อนไหวล่าสุด คือ การยื่นรายชื่อ 5 ล้าน รายชื่อ ถวายฏีกาขอให้อภัยโทษให้แก่อดีตนายฯทักษิณ ต่อพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งสร้างความวุ่นวาย ความแตกแยกทางความคิด แตกระแหงไปทั่วทั้งประเทศไทย ทางฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ได้มีคำสั่งทั้งทางลับและอย่างเป็นทางการไปถึงข้าราชการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะข้าราชการส่วนภูมิภาคและข้าราชการส่วนท้องถิ่น ให้มีการลงชื่อคัดค้าน การยื่นรายชื่อถวายฏีกาขออภัยโทษให้แก่ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 โดยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆเกิดขึ้น ซึ่งหลายๆฝ่าย หวาดกลัวกันว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง และเกิดเหตุการณ์บานปลายลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเมือง
ปัญหาที่สำคัญของกระบวนการทางการเมืองต่อรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ คือ ปัญหาการจัดสรรตำแหน่ง ปัญหาความไม่โปร่งใสในโครงการต่างๆที่กำลังเริ่มต้นขึ้น และปัญหาการใช้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล ที่ถูกว่าขานว่า ดำเนินการ 2 มาตราฐาน
ปัญหาการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ยังใช้ระบบโควต้าอยู่ กลุ่มการเมืองใดมีเสียง สส. หรือ รวบรวม สส. ไว้ในกลุ่มของตนเองได้มากเท่าไหร่ สัดส่วนที่จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย เช่น กรณี สส.ของพรรคประชาธิปปัตย์ อย่าง นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ สส.พัทลุง ได้ออกมาฟาดงวง ฟาดงา หลังจากมีชื่อสอดไส้นาย วีระชัย วีระเมธีกุล ให้มาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เพราะเป็นนายทุนอุดหนุนพรรค เหตุการณ์ที่มองเห็นว่ายุติ นิ่งสงบแล้ว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่เป็นลักษณะคลื่นใต้น้ำ ที่รอวันโถมเข้าใส่อย่างรุนแรง ได้ทุกเมื่อ เพียงแต่มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้นิ่ง เงียบสงบอยู่ได้ชั่วคราวเท่านั้นเอง
ปัญหาความไม่โปร่งใสในโครงการต่างๆ โครงการชุมชนพอเพียง ได้เกิดปัญหาไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมย์ของโครงการ คือ ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของชุมชน ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนตั้งกรรมการตรวจสอบอยู่ ซึ่ง ผอ.โครงการชุมชนพอเพียง เป็นน้องชายรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลอภิสิทธิ์
ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ได้ถูกยื่นเรื่องให้ถูกปลดออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อรับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นล่าสุดคือ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย 15 คน นำโดย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เข้ายื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 25 พ.ค. ถึง วันที่ 3 ธ.ค.2551 และระหว่างวันที่ 26 มี.ค. ถึง วันที่ 14 เม.ย.2552 พ.ศ. 2552 ต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มี นายรณฤทธิชัย คานเขต นายพิกิฐ ศรีชนะ ส.ส.ยโสธร นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อแผ่นดิน นายวินัย ภัทรประสิทธิ์ ส.ส.พิจิตร นางวรศุลี สุวรรณปริสุทธิ์ ส.ส.มุกดาหาร นพ.ไกร ดาบธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายจักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคประชาราช ร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว
โดยกลุ่ม สส. ดังกล่าว ได้แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าร่าง พรบ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ผ่านรัฐสภา และได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาได้นั้น จะเป็นทางออกของเหตุการณ์การความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ได้
บทที่ 3
บทวิเคราะห์
เมื่อนำทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์มาวิเคราะห์ กลุ่มผลประโยชน์ในที่นี้ คือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นที่รวมของคน กลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็น มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน ในการเคลื่อนไหว เรียกร้องทางการเมือง ต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยกลุ่มฯนี้ได้เห็นว่าได้มีความไม่ถูกต้องชอบธรรม ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในการบริหารงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในความเป็นจริงน่าจะเป็นกลุ่มการเมืองมากกว่า โดยสังเกตได้จากมีอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย (เดิม) ต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชน และในปัจจุบัน คือพรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว อีกทั้งยังมีความต้องการที่ เน้นผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเป็นหลัก โดยมีเป้าหมาย และมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาล ก็คือ ต้องการชัยชนะในการเรียกร้อง และต้องการให้บุคคลในกลุ่มฯ ซึ่งก็คือแกนนำหลายๆคน กลับเข้ามามีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ซึ่งก็คือ กลับเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยให้รัฐบาลปัจจุบัน คือรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยุบสภา หรือลาออก นอกจากนี้แล้ว กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. นั้นเราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ต้องการที่จะมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ อีกด้วย
และเมื่อนำทฤษฎีที่สองมาวิเคราะห์ คือ ทฤษฎีระบบ จะเห็นได้ว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เปรียบเหมือนเป็น Input คือ การเรียกร้อง และการสนับสนุน กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ต้องการให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ลาออก หรือยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยเริ่มเรียกร้อง กดดันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ การเรียกร้องของกลุ่ม ฯ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 การเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาประกาศใช้ การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทุกหนทุกแห่งที่คณะรัฐมนตรี ตัวนายกรัฐมนตรี เดินทางไปบริหารประเทศในทุกท้องที่ จนมาถึงการยื่นรายชื่อ 5 ล้านรายชื่อ ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขออภัยโทษให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ซึ่งตอนนั้นหลายๆฝ่ายวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น แต่ในที่สุดก็ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆเกิดขึ้น สามารถผ่านพ้นไปด้วยดีหลังจากที่เลขาฯสำนักราชวังมารับหนังสือยื่นถวายฎีกา
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ตั้งเป้าหมายเรียกร้องรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้ยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ไม่เช่นนั้น ทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. จะนัดชุมนุมใหญ่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้รัฐบาลยุบสภา โดยจะไม่ยอมสลายการชุมนุม จนกว่าจะได้บรรลุตามข้อเรียกร้อง จะระดมประชาชนที่สนับสนุนทางกลุ่มฯ เดินทางจังทั่วสารทิศ เพื่อมากดดันรัฐบาล โดยนัดชุมนุมครั้งใหญ่ในวันที่ 30 สิงหาคม 2552 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยจะชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ จนกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะทำตามข้อเรียกร้อง
ส่วนทางรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. แต่อย่างใด เพราะรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้เข้ามาบริหารประเทศถูกต้องตามครรลองระบอบประชาธิปไตย โดยการโหวตได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา จึงไม่ยอมทำตามเงื่อนไขและข้อเรียกร้องแต่อย่างใด
ในเมื่อข้อเรียกร้อง กดดันของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ไม่ได้รับการตอบสนอง ทางกลุ่มฯ จึงต้องดำเนินการเรียกร้อง กดดันทุกวิถีทาง โดยยกระดับข้อเรียกร้องให้เป็นเป็นข้อเรียกร้องระดับชาติ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองเสียหาย
ข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย มีสาเหตุมาจาก
– ยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ (Support) เช่น ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ทั่วทั้งประเทศ แต่กลับมองถูกมองว่า เป็นประชาชนบางส่วนจากภาคเหนือและภาคอีสาน
– ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ นักวิชาการ ที่มีชื่อเสียงในประเทศส่วนมาก และนักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นที่น่าแปลกอย่างมากที่ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กลับไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุนในข้อเรียกร้อง กดดันของกลุ่มฯ แต่อย่างใด
– สื่อสารมวลชน และการใช้สื่อเพื่อที่จะแพร่กระขายข้อเรียกร้องของกลุ่มฯ ให้ได้รับรู้รับทราบไปถึงประชาชนส่วนใหญ่
– ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ทัศคติ ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ กลับไม่เข้ามาสนับสนุน ช่วยเหลือการกระทำของกลุ่มฯ ใดๆเลย มีเพียงประชาชนบางส่วนในภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งส่วนมากเป็นประชาชน ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ในระดับรากหญ้า เท่านั้น แต่กลับคนส่วนใหญ่ของประเทศกลับมองว่าทางกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เป็นตัวป่วน ตัวสร้างความวุ่นวายให้เกิดประเทศชาติบ้านเมือง และข้อหาสำคัญที่ถูกมองก็คือ ไม่ได้มาเรียกร้องโดยใจสุจริต แต่มาเรียกร้องเพราะต้องการสิ่งตอบแทน และได้รับอามิส สินจ้างมา
บทที่ 4
ข้อเสนอแนะ
รัฐบาลอภิสิทธิ์ จะต้องตัดสินใจและดำเนินการอย่างเด็ดขาด ในการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองต่อไป ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กับประชาชน หรือ กลุ่มทางการเมืองใดๆ ที่สร้างความวุ่นวาย และความเสียหายแก่ประเทศชาติ โดยห้ามใช้ความรุนแรง และกำลังใดๆของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อสลายการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในเมื่อทางกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ได้ทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติไว้ ในการที่จะชุมนุม เรียกร้องทางการเมือง โดยเปิดเผย โดยสงบ ปราศจากอาวุธ รัฐบาลอภิสิทธิ์ควรแยกการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นกลุ่มฯที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเพราะเดือดร้อนจริง มีปัญหาจริง โดยบริสุทธิ์ใจ กับกลุ่มฯที่เคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองโดยมีอะไรแอบแฝงบางอย่างเพื่อผลประโยชน์ หรือเพื่อช่วยเหลือให้พ้นการกระทำผิดใดๆ โดยดำเนินการอย่างประนีประนอมกับกลุ่มฯที่เคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างบริสุทธิ์ใจ เพื่อให้กลุ่มฯพอใจ ถึงอาจจะไม่ได้ตามความต้องการ ตามข้อเรียกร้องทั้งหมด อย่างน้อยก็จะมีความพอใจที่ได้รับความสนใจ ตอบสนอง จากรัฐบาล และจะสลายตัว แยกย้ายกลับถิ่นฐานของตัวเองต่อไป
ในส่วนของกลุ่มฯที่เคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองโดยมีอะไรแอบแฝงบางอย่างเพื่อผลประโยชน์ หรือเพื่อช่วยเหลือให้พ้นการกระทำผิดใดๆ นั้น ทางรัฐบาลอภิสิทธิ์ จะต้องดำเนินการ และตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง แต่จะต้องกระทำการใดๆภายใต้ข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยห้ามใช้ความรุนแรง และกำลังเข้าสลายกลุ่มฯที่เรียกร้อง กดดันโดยเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวาย ความเสียหายอย่างใหญ่หลวง จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ
ในความคิดเห็นของผู้ทำรายงานคิดว่าการที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 25 พ.ค. ถึง วันที่ 3 ธ.ค.2551 และระหว่างวันที่ 26 มี.ค. ถึง วันที่ 14 เม.ย.2552 พ.ศ. 2552 ต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นทางออกที่ดีที่สุดของการที่จะทำให้ประเทศชาติบ้านเมือง ยุติความวุ่นวาย หรืออาจทำให้ความวุ่นวายในการเรียกร้องกดดันของกลุ่มฯเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ลดความรุนแรง แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีวี่แววว่า ไม่สนับสนุนร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฯ ฉบับนี้ ซึ่งนักศึกษาเห็นว่า เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของการตัดสินของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ คงต้องบริหารประเทศชาติโดยมีกลุ่มเคลื่อนไหว เรียกร้อง และกดดันทางการเมือง อยู่ตลอดไป จนไม่สามารถบริหารประเทศชาติได้จนครบวาระที่เหลือของการเป็นรัฐบาล
ขอจบเพียงเท่านี้ครับ
หมายเหตุ
เป็นรายงานเดือนสิงหาคม 2552
บรรณานุกรม
ดร.สุจิต บุญบงการ (2552) เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องการวิเคราะห์
การเมืองเนื่องในการสัมมนาเข้มชุดวิชา 80702 การวิเคราะห์การเมืองและระเบียบวิธีวิจัย
ทางรัฐศาสตร์ วันที่ 17-19 กรกฎาคม 2552 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ประจักษ์ เฉิดโฉม และศิษฐ์ วงษ์กมลเศรษฐ์ (2537) การวิเคราะห์ระบบ กรุงเทพฯ
บ.สยามสปอร์ต ชินดิเคท จำกัด
พลศักดิ์ จิรไกรศิริ (2548) “การแสวงหาความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมือง” ใน ประมวล
สาระชุดวิชาการวิเคราะห์การเมืองและระเบียบวิธีวิจัยทางรัฐศาสตร์ หน่วยที่ 1 หน้า 28-29
นนทบุรี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชารัฐศาสตร์
ลิขิต ธีรเวคิน (2550) วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย พิมพ์ครั้งที่ 10 กรุงเทพมหานคร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ลิขิต ธีรเวคิน ( 2551, 28 พฤษภาคม) “อำนาจการเมืองและอำนาจรัฐ” สยามรัฐรายวัน
มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ (2546) “รูปแบบของ e-university” ค้นคืนวันที่ 18 สิงหาคม 2552
จาก http://www.ripb.ac.th/elean 23 กรกฎาคม 2546